บอกข่าวร้ายให้ได้แบบมืออาชีพ
July 29th, 2016
ข่าวดี ข่าวร้ายเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน ไม่มีใครอยากบอกข่าวร้ายแต่บางครั้งบางคราวในชีวิตหรือในการทำงานก็อาจหลีกเลี่ยงเรื่องแบบนี้ไม่ได้จริงๆ โดยเฉพาะกับคนที่ต้องรับหน้าที่เป็นผู้แจ้งข่าวร้ายนี่ช่างน่าลำบากใจจริงๆ วันนี้ M academy มีขั้นตอนที่จะช่วยคุณให้รับมือกับการเป็นผู้ส่งสารแบบข่าวร้ายได้อย่างมืออาชีพ ได้ผลและกระอักกระอ่วนใจให้น้อยที่สุดมาฝากค่ะ
• ปรับอารมณ์ของผู้พูดให้พร้อม ก่อนจะแจ้งข่าวร้ายกับผู้อื่นตัวผู้พูดเองต้องควบคุมอารมณ์และสติให้ได้ก่อน ห้ามพูดในขณะที่ตัวเองก็กำลังตกใจหรือคุมสติไม่ได้ การแจ้งข่าวโดยใช้อารมณ์ร่วมแบบนี้มีแต่จะทำให้ผู้รับฟังข่าวรู้สึกตระหนกตกใจมากขึ้น ก่อนทำหน้าที่แจ้งข่าวร้ายกับใครจึงสำคัญมากที่ผู้แจ้งข่าวจะต้องปรับอารมณ์ของตัวเองให้เป็นปกติสงบและเยือกเย็นให้ได้เสียก่อน
• เลือกสถานที่และเวลาให้เหมาะสม ไม่ควรแจ้งข่าวร้ายแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ควรดูกาลเทศะในเรื่องที่ต้องแจ้ง และเลือกใช้สถานที่ๆ มีความเป็นส่วนตัว ให้เวลาเค้าเตรียมใจเล็กๆ เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกผ่อนคลาย และมีสมาธิที่จะตั้งใจฟังข่าวที่เรากำลังจะแจ้ง ส่วนนึงเป็นเพราะเราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้เลยว่าผู้ที่ต้องรับฟังข่าวร้ายจะมีท่าทีตอบสนองแบบไหน บางคนอาจจะสงบนิ่งหรือบางคนอาจจะร้องไห้โวยวาย สถานที่และเวลาเหมาะสมจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งจำเป็นในระดับต้นๆ ที่ผู้แจ้งข่าวต้องให้ความสำคัญ
• ระวังน้ำเสียงและภาษากาย กระทั่งตำแหน่งที่นั่งก็สำคัญ โดยผู้แจ้งข่าวควรนั่งแบบเฉียงๆ โน้มตัวเข้าไปหาคู่สนทนาเล็กน้อย ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายจะให้ความรู้สึกใส่ใจในแบบที่ไม่กดดันคู่สนทนา ไม่ควรนั่งประจันหน้าตรงตัวกับคู่สนทนา นั่งกอดอก ไขว่ห้างเพราะถือเป็นภาษากายที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนการพูดควรใช้โทนเสียงปกติ เลือกใช้คำพูดที่แสดงความเข้าอกเข้าใจ คิดถึงใจเค้าใจเรา และปรารถนาดี แต่ก็ต้องพูดให้ตรงประเด็นและกระชับ ไม่พูดโดยใช้อารมณ์ร่วมหรือเลี่ยงประเด็นด้วยการกล่าวโทษสิ่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องซึ่งอาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดได้
• รับฟังและปลอบโยนด้วยท่าทีที่เหมาะสม ขึ้นชื่อว่าเป็นข่าวร้ายใครได้รับฟังไปแล้วก็ต้องเสียใจทั้งนั้น บางคนอาจเสียใจร้องไห้มากน้อยแตกต่างกันไป จึงถือเป็นมารยาทที่ผู้แจ้งข่าวควรรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ และปลอบใจด้วยคำพูด ท่าทางอย่างการแตะตัวเพื่อปลอบโยนในตำแหน่งร่างกายที่เหมาะสม อย่างแตะบ่า หรือข้อศอก หรือแม้แต่นั่งเงียบๆ เพื่อรับฟังเค้าระบายอย่างเข้าอกเข้าใจ ก็ถือเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจที่ดีอีกทางนึงที่ผู้แจ้งข่าวร้ายควรแสดงออกต่อผู้รับฟังค่ะ
• ทิ้งเวลาให้ผู้ฟังได้คิดได้อยู่ตามลำพัง เมื่อแจ้งข่าวร้ายและปลอบโยนผู้ฟังในระดับนึงแล้ว บางครั้งผู้รับฟังก็ต้องการเวลาเป็นส่วนตัวหรืออยู่กับคนใกล้ชิดเพื่อทำใจ เมื่อผู้แจ้งข่าวทำหน้าที่เรียบร้อยแล้วก็ควรปลีกตัวเองออกมาจากสถานที่เพื่อให้เวลากับคู่สนทนาที่เพิ่งได้รับฟังข่าวร้ายได้มีเวลาเป็นส่วนตัว จนเค้าพร้อมและทำใจได้ในระดับนึง
อย่างที่พูดในตอนต้นค่ะ ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากรับหน้าที่เป็นคนแจ้งข่าวร้ายให้กับผู้อื่น แต่ด้วยความจำเป็นหรือด้วยเนื้องานที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การแจ้งข่าวร้ายอย่างถูกวิธีจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะจำเป็นที่ควรเรียนรู้เพื่อให้สามารถเลือกใช้วิธีในการแจ้งข่าวสารได้อย่างเหมาะสม หากเพื่อนๆ คนไหนทำตามวิธีข้างต้นแล้วยังไม่มั่นใจก็สามารถลงเรียนในหลักสูตรที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะการพูดให้เหมาะสม พูดให้มีเสน่ห์เพื่อให้สามารถรับมือได้กับทุกๆ สถานการณ์ อย่าง “Charismatic Talk” ที่ทาง M academy จัดอบรมขึ้นเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและฝึกฝนทักษะในการสื่อสาร ทั้งการพูดฟัง และท่าทางการแสดงออกให้คุณได้แบบมืออาชีพเลยค่ะ
ที่มา http://goo.gl/DKfHnd